วัณโรคเทียมคืออะไร รู้ไว้รักษาหายได้

คงไม่มีใครอยากจะเจ็บป่วย เป็นโรคกันทั้งนั้น แต่ด้วยสภาพแวดล้อม และวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปตามกระแสโลก ทำให้คนเราเจ็บป่วยกันง่ายขึ้น อย่างล่าสุดมีข่าวเกี่ยวกับ “โรควัณโรคเทียม” ซึ่งความรุนแรงไม่แพ้กับโรควัณโรคเลย วันนี้เลยนำข้อมูลเกี่ยวกับโรควัณโรคเทียมมาฝาก ทั้งการติดต่อ การรักษาและการป้องกัน

โรควัณโรคเทียมคือโรคอะไร 

วัณโรค (Tuberculosis หรือ TB) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium tuberculosis จัดอยู่ในกลุ่ม Mycobacterium tuberculosis complex เกิดได้ในทุกอวัยวะของร่างกาย ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นที่ปอด ปอด  

เชื้อ Mycobacterium แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ  

1) Mycobacterium tuberculosis complex (MTBC) เป็นสาเหตุของวัณโรคในคนและสัตว์   

2) Nontuberculous mycobacteria (NTM) หรือวัณโรคเทียม ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 140  สายพันธุ์ เชื้อมัยโคแบคทีเรียที่ไม่ก่อโรควัณโรค มักก่อโรคในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และมีอุบัติการณ์ของการติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา*   

3) Mycobacterium leprae เชื้อมัยโคแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคเรื้อน 

การติดเชื้อวัณโรคเทียม (NTM) 

เชื้อมีการกระจายตัวอยู่ในธรรมชาติสูงทั้งในดิน และน้ำ การติดเชื้อเกิดขึ้นเมื่อเราหายใจเข้าไปหรือมีบาดแผลที่สัมผัสกับเชื้อ แต่มันไม่แพร่จากคนสู่คนเหมือนวัณโรคทั่วไป คนที่มีปอดปกติเมื่อหายใจเอาเชื้อวัณโรคเทียมเข้าไป จะไม่ก่อให้เกิดโรค แต่คนที่มีโรคปอดอยู่แล้ว หรือโดยเฉพาะในกลุ่มคนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ที่มีความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ที่ติดเชื้อ HIV ผู้สูงอายุ ผู้ที่เคยป่วยเป็นวัณโรค โดยการติดเชื้อนี้จะมีผลต่อการเกิดโรคที่บริเวณปอด ต่อมน้ำเหลือง หรือส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย รวมทั้งผิวหนัง 

อาการวัณโรคเทียม 

สำหรับผู้ป่วยวัณโรคเทียม จะมีอาการคล้ายผู้ป่วยวัณโรคเนื่องจากการติดเชื้อส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นที่ปอด อาการที่พบบ่อย ได้แก่ ไข้ ไอเรื้อรังไม่ทราบสาเหตุ เหนื่อยง่าย เสมหะเป็นเลือด น้ำหนักลด เบื่ออาหาร เหงื่อออกในตอนกลางคืน อ่อนเพลีย นอกจากนี้ยังพบอาการอื่นๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับตำแหน่งของการติดเชื้อ เช่น ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ หรือขาหนีบ ผื่นผิวหนัง ฝี หรือแผลเรื้อรัง เป็นต้น 

การป้องกัน 

1.ล้างมือให้สะอาดหลังทำกิจกรรมที่สัมผัสกับดินหรือน้ำ 

2.สวมหน้ากากอนามัยในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง 

3.หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นที่ไม่ได้รับการบำรุงรักษาอย่างถูกต้อง 

การรักษา 

การรักษาอาจต้องใช้ยาปฏิชีวนะหลายชนิด และระยะเวลารักษาอาจนานหลายเดือน การตรวจวินิจฉัยและรักษาแต่เนิ่น ๆ จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน 

หากสังเกตตัวเองว่ามีอาการเหล่านี้ ควรรีบไปตรวจหาการป่วยเป็นวัณโรคโดยเร็ว ด้วยการเอกซเรย์ปอดและการตรวจเสมหะ เพื่อเข้าสู่กระบวนการการรักษาตามมาตรฐาน