“ริดสีดวงทวาร” เป็นโรคที่พบได้บ่อย เกิดขึ้นบริเวณทวารหนัก สาเหตุส่วนมากมาจากระบบขับถ่ายไม่ดี อาการท้องผูก ทำให้อุจจาระแข็ง เป็นก้อน ซึ่งสร้างความกังวลใจและรบกวนการใช้ชีวิตในแต่ละวันเป็นอย่างมาก
รู้จักริดสีดวงทวาร
คือกลุ่มของหลอดเลือดดำบริเวณปลายสุดของลำไส้ใหญ่และที่ขอบรูทวารหนักโป่งพองและยื่นออกมา
ริดสีดวงแบ่งออกเป็น 2 ชนิด
1.ริดสีดวงภายใน คือ การที่เนื้อเยื่อของทวารหนัก ที่อยู่สูงกว่าdentate line เลื่อนตัวลงมาทางปากทวารหนักทำให้เกิดอาการเลือดออกขณะถ่ายอุจจาระ หรือยื่นออกมาจากขอบทวารหนัก
อาการเริ่มต้นริดสีดวงจะมีขนาดเล็ก มีขนาดเล็กทำให้ไม่สามารถมองเห็นหรือคลำได้แต่จะมีเลือดออกเวลาขับถ่าย หากอาการหนัก ริดสีดวงจะยื่นออกมาขณะถ่ายอุจจาระและเลื่อนกลับเข้าไปในทวารหนัก หลังถ่ายอุจจาระ ต่อมาต้องดันริดสีดวงที่ยื่นออกมากลับเข้าไปในทวารหนัก และระยะสุดท้ายริดสีดวงเริ่มมีขนาดใหญ่ ไม่สามารถหดหรือดันกลับเข้าไปได้ จะมีอาการปวดมาก
2.ริดสีดวงภายนอก คือเนื้อเยื่อที่อยู่ใต้ dentate line ยืดออกเป็นติ่งเนื้อ ริดสีดวงทวารภายในและภายนอกจะเกิดร่วมกันได้บ่อยครั้ง การดูแลรักษาพิจารณาจากชนิด และ ความรุนแรงของโรค ทั้งนี้การรักษามุ่งเพื่อบรรเทาอาการ และไม่จำเป็นต้องขจัดหัวริดสีดวงทวารที่มีอยู่ทั้งหมด
วิธีการรักษาริดสีดวงทวาร สามารถแบ่งออกได้ 2 ประเภท 4 ระยะ ดังนี้
1.รักษาโดยไม่ผ่าตัด จะใช้ในการรักษาผู้ป่วยริดสีดวงตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงระยะที่ริดสีดวงยื่นและหดกลับเข้าไปเองได้ชจะรักษาด้วยวิธีดังนี้
- เหน็บยารักษาริดสีดวง
- ใช้ยางรัดบริเวณหัวริดสีดวงที่โผล่ออกมาเพื่อให้ฝ่อ และหลุดออก โดยวิธีนี้อาจมีความเสี่ยงจากการติดเชื้อและ ผลข้างเคียงอื่น ๆ ซึ่งต้องให้แพทย์เฉพาทางที่มีความชำนาญเป็นผู้ให้การดูแลรักษา
- ฉีดยาในตำแหน่งใต้ริดสีดวงจะช่วยให้ริดสีดวงยุบลง โดยจะฉีดทุก 2-4 สัปดาห์
2.รักษาโดยการผ่าตัด ใช้รักษาริดสีดวงภายนอกที่มีผู้ป่วยต้องใช้นิ้วดันริดสีดวงเข้าไป และไม่สามารถดันกลับเข้าไปได้
- ผ่าตัดแบบมาตรฐาน จะผ่าตัดนำเนื้อเยื่อริดสีดวงที่โตออก และตัดไปถึงขั้วเส้นเลือดที่เลี้ยงหัวริดสีดวงนั้น โอกาสน้อยที่จะเกิดขึ้นซ้ำ
- ผ่าตัดแบบใช้เครื่องมือตัดเย็บโดยอัตโนมัติ เหมาะสำหรับผู้ป่วยริดสีดวงทวารที่เกิดขึ้นภายในเท่านั้น และมีหัว ริดสีดวงหลายหัว
- ผ่าตัดแบบเลเซอร์ เหมาะสำหรับริดสีดวงที่ไม่มีอาการรุนแรง
- ผ่าตัดแบบ Radio Frequency Ablation เป็นการปล่อยคลื่นความถี่สูงช่วงแคบ ๆ จี้ไปที่ก้อนริดสีดวง เพื่อทำให้ก้อนฝ่อลง
เมื่อเราทำความเข้าใจกับโรคริดสีดวงว่ามีกี่แบบและแนวทางการรักษาแล้ว ควรหมั่นสังเกตอาการ หากเสี่ยงเกิดควรรีบพบแพทย์ทันที อย่าปล่อยให้โรคอยู่กับเราเป็นเวลานานๆ